จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยได้เข้าสู่หน้าร้อนมาสักระยะแล้ว ซึ่งในช่วงหน้าร้อนของประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษมากขึ้น เนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นช่วงที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้อาหาร วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารบางชนิดบูด เน่าเสียได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายทางชีวภาพต่อผู้บริโภค
จากสถิติของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษในปี 2563 มีจำนวนมากถึง 915,289 ราย
8 กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ระมัดระวังในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากเสี่ยงต่อการบูด เน่าเสียได้ง่าย ได้แก่
- อาหารประเภทยำ ลาบ ส้มตำ เป็นอาหารที่มีการปรุงแบบทั้งผ่านความร้อน และไม่ผ่านความร้อน ยิ่งหากร้านไหนใช้วัตถุดิบที่ไม่สะอาด ยิ่งเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เช่น ปลาร้าดิบ ปูดองไม่สะอาด เป็นต้น
- อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ กะทิเป็นส่วนประกอบอาหารที่เสี่ยงต่อการบูด เน่าเสียได้ง่ายมาก โดยเฉพาะมะพร้าวที่ใช้คั้นกะทิไม่สะอาด เมื่อนำมาประกอบอาหาร หากไม่ใช่อาหารปรุงสดใหม่ ยิ่งไม่ควรรับประทาน เช่น แกงกะทิ ขนมหวานที่ราดด้วยกะทิ เป็นต้น
- อาหารทะเล เป็นอาหารที่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม (ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเจริญเติบโต และควรปรุงสุก สะอาด รับประทานขณะยังร้อน จึงจะเหมาะสมและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษได้
- อาหารหมักดอง โดยเฉพาะอาหารหมักดองที่ขายตามร้านค้าในตลาด หากมีกรรมวิธีการทำ การเก็บรักษาที่ไม่สะอาด ช่วงหน้าร้อนยิ่งง่ายต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และในอาหารหมักดองบางชนิด มีเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตรายมากถึงขั้นมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากไวรัส หรือในแหนมที่เสี่ยงพบพยาธิตัวตืด อาจได้รับสารพิษจากสารไนโตรซามีนที่เป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย
- อาหารที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบและไม่ปรุงสดใหม่ เช่น ซูชิหน้าต่างๆ ข้าวราดแกง ข้าวมันไก่ เป็นต้น หากรับประทานอาหารกลุ่มนี้หลังปรุงเสร็จใหม่ๆ จะปลอดภัยมากที่สุด แต่หากอาหารกลุ่มนี้ถูกวางทิ้งไว้นานๆ เชื้อโรคจะยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษได้สูงขึ้น
- ผัก ผลไม้สดที่เตรียมไม่สะอาด ปกติในผักหรือผลไม้สดที่รับประทานทั้งเปลือกมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค หรือไข่พยาธิหลายชนิดอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงหน้าร้อน ยิ่งมีการเจริญเติบโตไวขึ้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงผัก ผลไม้สดที่ซื้อจากข้างนอก หากจะรับประทานจริงๆ ควรล้างทำความสะอาด และนำมาปรุงประกอบด้วยตัวเอง เช่น ผักสลัด หรือผลไม้ตัดแต่ง เป็นต้น
- ขนมที่ผ่านการปั้นๆ ถูๆ หรือมีนม เนย และไข่ผสม เช่น เอแคลร์ ลูกชุบ เป็นต้น เนื่องจากนม เนย และไข่เป็นส่วนผสมของอาหารที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีมาก บูด เน่าเสียได้ง่าย บวกกับวิธีการผลิตขนมที่ต้องใช้มือในการปั้น ถู หรือขึ้นรูป หากผู้ผลิตไม่รักษาความสะอาด ยิ่งทำให้ขนมเหล่านั้นเสียได้ง่ายขึ้น
- น้ำแข็ง เป็นส่วนประกอบของขนมและเครื่องดื่มที่คนมักจะเลือกบริโภคเพื่อคลายร้อน เช่น เครื่องดื่มเย็น น้ำแข็งใส เป็นต้น ซึ่งการปนเปื้อนของเชื้อโรคมาจากน้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งไม่สะอาด หรือเครื่องมือ/ขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคน้ำแข็งจากแหล่งที่สะอาด และได้มาตรฐาน
อาการของโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการคล้ายกัน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
การดูแลเบื้องต้น ควรดื่มน้ำละลายผงเกลือแร่ (โออาร์เอส; ORS) ป้องกันการขาดน้ำ และไม่ควรให้ยาระงับการถ่ายอุจจาระ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายบ่อยทุกๆ 2 ชั่วโมง อ่อนเพลีย ไข้ไม่ลด เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกัน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนไม่เกิน 2-4 ชม. ไม่มีแมลงวันตอม หากมีรูป รส กลิ่น สีที่ผิดปกติ ไม่ควรรับประทาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และได้มาตรฐาน ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังเข้าห้องน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องระมัดระวังการแพร่ของเชื้อโควิด-19 การล้างมือและใช้ช้อนกลางยิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อสุขภาพที่ดีของเราและคนที่เรารัก